วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

การสมาสคำ
          เป็นการสร้างคำขึ้นเพื่อเพิ่มคำใหม่ประเภทหนึ่ง  เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการสื่อสาร  โดยนำคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มารวมเป็นคำเดียวกัน  คำที่นำมารวมกันนี้เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤต เรียกว่า “คำสมาส” คำสมาสจะเป็นคำที่มีความหมายใหม่ คำที่มีความหมายหลักมักจะอยู่ข้างหลัง  คำที่ช่วยขยายความหมายจะอยู่ข้างหน้า  ดังนั้นการแปลคำสมาสจึงมักจะแปลจากท้ายมาหาคำหน้า เช่น
          มหา (ยิ่งใหญ่)  +  ชาติ (การเกิด)   เท่ากับ   มหาชาติ  หมายถึง          การเกิดครั้งยิ่งใหญ่
          วีร (กล้าหาญ)   +  บุรุษ (ชาย)       เท่ากับ   วีรบุรุษ    หมายถึง  ชายผู้กล้าหาญ
          อุทก (น้ำ)        +  ภัย (อันตราย)    เท่ากับ   อุทกภัย   หมายถึง ภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วม
          คำสมาส (อ่านว่า สะ – หมาด) คือ การนำคำภาษาบาลีและ/หรือสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมารวมกันเป็นคำเดียว มีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน โดยคำหลักมักอยู่ข้างหลัง คำขยายมักอยู่ข้างหน้า เช่น ราชธานี  คำว่า  ธานี  ซึ่งแปลว่าเมืองจะอยู่ท้ายคำ
การสร้างคำสมาส
          คำสมาสในภาษาไทยมีวิธีการสร้างคำ ดังนี้
                   ๑.  นำคำภาษาบาลีและสันสกฤตมาต่อกัน  อาจเป็นคำภาษาบาลีต่อกับภาษาบาลี หรือคำภาษาสันสกฤตต่อกับภาษาสันสกฤต หรือคำภาษาบาลีต่อกับภาษาสันสกฤตก็ได้  เมื่อแปลคำสมาสจะแปลจากคำหลังไปหาคำหน้า
ตัวอย่าง
ถาวร (มั่นคง, ยั่งยืน) + วัตถุ (สิ่งของ) (บาลี + บาลี) = ถาวรวัตถุ
     อ่านว่า           ถา – วอน – วัด – ถุ
     หมายถึง         สิ่งของที่ก่อสร้างที่มั่นคง ยั่งยืน เช่น โบสถ์ วิหาร
ฌาปน (การเผาศพ) + กิจ (ธุระ, งาน) (บาลี + บาลี) = ฌาปนกิจ
     อ่านว่า           ชา – ปะ – นะ – กิด
     หมายถึง         งานเกี่ยวกับการเผาศพ
ราช (พระเจ้าแผ่นดิน) + ฐาน (ที่อยู่) (บาลี + บาลี) = ราชฐาน
     อ่านว่า           ราด – ชะ – ถาน
     หมายถึง         ที่อยู่ของพระเจ้าแผ่นดิน
เกษตร (ที่ดิน, ไร่,นา) + กรรม (การกระทำ) (สันสกฤต + สันสกฤต) = เกษตรกรรม
     อ่านว่า กะ – เสด – ตระ – กำ
     หมายถึง         การใช้ที่ดินเพาะปลูก
ไตร (สาม) + ลักษณ์ (ลักษณะ) (สันสกฤต + สันสกฤต) = ไตรลักษณ์
     อ่านว่า           ไตร – ลัก
     หมายถึง         ลักษณะ ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน
คณิต (การคำนวณ) + ศาสตร์ (ระบบวิชาความรู้) (สันสกฤต + สันสกฤต) =  
     คณิตศาสตร์
     อ่านว่า           คะ – นิด – ตะ – สาด
     หมายถึง         วิชาว่าด้วยการคำนวณ
หัตถ (มือ) + กรรม (การกระทำ) (บาลี + สันสกฤต) = หัตถกรรม
     อ่านว่า           หัด – ถะ – กำ
     หมายถึง         งานช่างที่ทำด้วยมือ
            ข้อสังเกต
            การสร้างคำวิธีนี้เป็นการนำคำมาเรียงต่อกัน และในการอ่านมักอ่านออกเสียงพยางค์เชื่อมระหว่างคำที่มาต่อกัน  แต่มีบางคำไม่อ่านออกเสียงพยางค์เชื่อมระหว่างคำ หรือบางคำจะอ่านออกเสียงพยางค์เชื่อมระหว่างคำหรือไม่ก็ได้ เช่น
          เกียรติคุณ       อ่านว่า           เกียด – ติ – คุน
                                 หมายถึง        คุณที่เลื่องลือ
          มาตุภูมิ           อ่านว่า           มา – ตุ – พูม
                                 หมายถึง        บ้านเกิดเมืองนอน
          เกียรตินิยม      อ่านว่า          เกียด – นิ – ยม
                                 หมายถึง        ความรู้ดีเด่นเหนือระดับปกติ
          จิตพิสัย           อ่านว่า          จิด – พิ – ไส
                                 หมายถึง        ที่มีอยู่ในจิต
          มูลนิธิ             อ่านว่า           มูน – นิ – ทิ หรือ มูน – ละ – นิ – ทิ
                                 หมายถึง        ทรัพย์สินที่จัดไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
          ศิลปกรรม       อ่านว่า           สิน – ปะ – กำ หรือ สิน – ละ – ปะ – กำ
                                หมายถึง         สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ                             
          ๒.  นำคำภาษาบาลีสันสกฤตมาเชื่อมกันเป็นคำเดียวกันอีกแบบหนึ่ง        บางครั้งเรียกว่า”สมาสมีสนธิ” หมายถึง  การนำคำบาลีสันสกฤต ๒ คำ มาเชื่อมต่อเสียง ให้เสียงกลมกลืนกับพยางค์ต้นของคำหลัง มักเป็น อะ อา อิ อี หรือ อุ อู ไปเชื่อมกับพยางค์ท้ายของคำต้น  คำที่นำมาเชื่อมกันนี้อาจเป็นคำภาษาบาลีต่อกับคำภาษาบาลี หรือคำภาษาสันสกฤตต่อกับคำภาษาสันสกฤต หรือคำภาษาบาลีต่อกับคำภาษาสันสกฤตก็ได้ และเมื่อแปลความหมายจะแปลจากคำหลังไปหาคำหน้า เช่น
            ตัวอย่าง
            ภัตต (อาหาร) + อาคาร (เรือน) (บาลี + บาลี) = ภัตตาคาร
                   หมายถึง  อาคารที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
          เลขา (การเขียน) + อนุการ (การทำตาม) (บาลีสันสกฤต + บาลีสันสกฤต) = เลขานุการ
                   หมายถึง  ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ
          ศิระ (หัว, ยอด) + อาภรณ์ (เครื่องประดับ) (สันสกฤต + บาลี) = ศิราภรณ์
                   หมายถึง  อาภรณ์ประดับศีรษะ เช่น มงกุฎ
          ปรม (อย่างยิ่ง) + อณู (เล็ก, ละเอียด) (บาลี + บาลี) = ปรมาณู
                   หมายถึง  ส่วนของสารที่มีขนาดเล็กจนไม่สามารถแยกย่อย
          สุข (ความสบายกาย, สบายใจ) + อารมณ์ (ความรู้สึกทางใจ) (บาลี + บาลี) = สุขารมณ์
                   หมายถึง  อารมณ์ที่มีสุข
          ราชา (พระเจ้าแผ่นดิน) + อุปโภค (เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์) (สันสกฤต + สันสกฤต)
                   = ราชูปโภค     หมายถึง         ของใช้สำหรับพระราชา
            ข้อสังเกต
          มีคำในภาษาไทยหลายคำที่มีการประกอบคำคล้ายคำสมาส คือ นำศัพท์มาเรียงต่อกันและสามารถอ่านออกเสียง อะ อิ อุ เชื่อมระหว่างคำที่มาต่อกัน แต่ไม่ใช่คำสมาส  เพราะไม่ใช่คำรวมของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต และมีภาษาอื่นปน เช่น
          คุณ + ค่า        (บาลี + ไทย)                 อ่านว่า   คุน – นะ – ค่า, คุน – ค่า
          ชีว + เคมี        (สันสกฤต + อังกฤษ)    อ่านว่า   ชี – วะ – เค – มี
          เทพ + เจ้า       (บาลี + ไทย)                อ่านว่า   เทบ – พะ – เจ้า
          ทุน + ทรัพย์     (ไทย + สันสกฤต)        อ่านว่า   ทุน – นะ – ซับ
          เมรุ + มาศ      (บาลี + เขมร)                อ่านว่า   เม – รุ – มาด
          บรรจุ + ภัณฑ์   (เขมร + บาลีสันสกฤต) อ่านว่า บัน – จุ – พัน
          พล + เรือน      (บาลี + ไทย)                อ่านว่า   พน – ละ – เรอน
ลักษณะของคำสมาส
          ๑.  คำที่สมาสกันต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น อาจจะเป็นบาลีสมาสกับบาลี เช่น ทิพโสต ขัตติยมานะ สันสกฤตสมาสกับสันสกฤต เช่น อักษรศาสตร์ บุรุษโทษ บาลีสมาสกับสันสกฤต เช่น วิทยาเขต วัฒนธรรม
          ๒.  คำสมาสไม่ต้องประวิสรรชนีย์หรือมีเครื่องหมายทัณฑฆาตที่อักษรสุดท้ายของคำหน้า เช่น ศิลปกรรม ธุรการ สัมฤทธิ์บัตร วารดิถี 
          ๓.  คำที่นำมาสมาสกันแล้ว ความหมายหลักอยู่ที่คำหลัง ส่วนความรองจะอยู่ข้างหน้า เช่น ยุทธ (รบ) + ภูมิ (แผ่นดิน / สนาม) = ยุทธภูมิ (สนามรบ)
          ๔.  คำที่รวมกันแล้วไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำแต่อย่างใด เช่น วัฒน + ธรรม = วัฒนธรรม / โลก + บาล = โลกบาล
          ๕.  คำสมาสเมื่อออกเสียงต้องต่อเนื่องกัน เช่น ภูมิศาสตร์ อ่านว่า พู – มิ – สาด / เกตุมาลา อ่านว่า เก – ตุ – มา – ลา
หลักการสังเกตคำสมาส
            ๑.  คำที่สมาสกันต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น เช่น ทิพโสต ขัตติยมานะ กิจการ(บาลีสมาสกับบาลี) อักษรศาสตร์ บุรุษโทษ (สันสกฤตสมาสกับสันสกฤต)  วิทยาเขต วัฒนธรรม (บาลีสมาสกับสันสกฤต)
            ๒.  คำสมาสมีลักษณะคล้ายการนำคำสองคำมาวางเรียงต่อกัน  เวลาอ่านจะมีเสียงสระต่อเนื่องกัน
            ๓.  ไม่มีการประวิสรรชนีย์ (  )และ ไม่ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต เช่น  มนุษยสัมพันธ์ พลศึกษา
            ๔.  การเรียงคำ คำหลักจะอยู่ข้างหลัง ดังนั้นการแปลจึงแปลความหมายจากหลังมาหน้า
            ๕.  คำ “พระ” ประกอบหน้าคำบาลี สันสกฤต จัดเป็นคำสมาส
            ๖.  คำที่ลงท้ายด้วยคำว่า ศาสตร์  กรรม  ภาพ  ภัย  ศึกษา  มักเป็นคำสมาส
หมายเหตุ : ยกเว้นคำสมาสบางคำที่วางคำตั้งหรือคำหลักเป็นคำหน้าและวางคำขยายเป็นคำหลังจึงสามารถแปลความหมายจากหน้าไปหลังได้ เช่น บุตรธิดา หมายถึง ลูกและภรรยา  สมณพราหมณ์ หมายถึง พระสงฆ์และพราหมณ์   ทาสกรรมกร หมายถึง ทาสและกรรมกรฯลฯ
แนวคิด 
          คำไหนมี “ ะ ” หรือ ตัวการันต์ ระหว่างคำ คำนั้นไม่ใช่คำสมาส เช่น กิจจะลักษณะ วิพากษ์วิจารณ์ พิมพ์ดีด
ตัวอย่างคำสมาส
ธุรกิจ
กิจกรรม
กรรมกร
ขัณฑสีมา
คหกรรม
เอกภพ
กาฬทวีป
สุนทรพจน์
จีรกาล
บุปผชาติ
ประถมศึกษา
ราชทัณฑ์
มหาราช
ฉันทลักษณ์
พุทธธรรม
วรรณคดี
อิทธิพล
มาฆบูชา
มัจจุราช
วิทยฐานะ
วรรณกรรม
สัมมาอาชีพ
หัตถศึกษา
ยุทธวิธี
วาตภัย
อุตสาหกรรม
สังฆราช
รัตติกาล
วสันตฤดู
สุขภาพ
อธิการบดี
ดาราศาสตร์
พุพภิกขภัย
สุคนธรส
วิสาขบูชา
บุตรทาน
สมณพราหมณ์
สังฆเภท
อินทรธนู
ฤทธิเดช
แพทย์ศาสตร์
ปัญญาชน
วัตถุธรรม
มหานิกาย
มนุษยสัมพันธ์
วิทยาธร
วัฏสงสาร
สารัตถศึกษา
พัสดุภัณฑ์
เวชกรรม
เวทมนตร์
มรรคนายก
อัคคีภัย
อุดมคติ
เอกชน
ทวิบาท
ไตรทวาร
ศิลปกรรม
ภูมิศาสตร์
รัฐศาสตร์
กาฬพักตร์
ราชโอรส
ราชอุบาย
บุตรทารก
ทาสกรรมกร
พระหัตถ์
พระชงฆ์
พระพุทธ
พระปฤษฏางค์
วิทยาศาสตร์
กายภาพ
กายกรรม
อุทกภัย
วรพงศ์
เกษตรกรรม
ครุศาสตร์
ชีววิทยา
มหกรรม
อัฏฐางคิกมรรค
มหาภัย
อุบัติเหตุ
กรรมกร
สันติภาพ
มหานคร
จตุปัจจัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น