วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556



คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ อาคาร สภาพ และลักษณะทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม คำนามแบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ
          ๑.สามานยนาม คือ คำนามสามัญที่ใช้เป็นชื่อทั่วไป หรือเป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ โดยทั่วไป ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น คน , รถ , หนังสือ, กล้วย เป็นต้น สามานยนามบางคำมีคำย่อยเพื่อบอกชนิดย่อยๆของสิ่งต่างๆ เรียกว่า สามานยนามย่อย เช่น คนไทย , รถจักรายาน , หนังสือแบบเรียน , กล้วยหอม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
ดอกไม้อยู่ในแจกัน
แมวชอบกินปลา

         ๒.วิสามานยนาม คือ คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สถานที่ หรือเป็นคำเรียกบุคคล สถานที่เพื่อเจาะจงว่าเป็นคนไหน สิ่งใด เช่น ธรรมศาสตร์ , วัดมหาธาตุ ,รามเกียรติ์เป็นต้นตัวอย่างเช่น
นิดและน้อยเป็นพี่น้องกัน
อิเหนาได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนบทละคร

         ๓.ลักษณนาม คือ คำนามที่ทำหน้าที่ประกอบนามอื่น เพื่อบอกรูปร่าง ลักษณะ ขนาดหรือปริมาณของนามนั้นให้ชัดเจนขึ้น เช่น รูป , องค์ , กระบอก เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
คน 6 คน นั่งรถ 2 คน
ผ้า 20 ผืน เรียกว่า 1 กุลี

          ๔.สมุหนาม คือ คำนามบอกหมวดหมู่ของสามานยนาม และวิสามานยนามที่รวมกันมากๆ เช่น ฝูงผึ้ง , โขลงช้าง , กองทหาร เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
กองยุวกาชาดมาตั้งค่ายอยู่ที่นี่
พวกเราไปต้อนรับคณะรัฐมนตรี

         ๕.อาการนาม คือ คำเรียกสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีขนาด จะมีคำว่า "การ" และ "ความ" นำหน้า เช่น การกิน , กรานอน , การเรียน , ความสวย , ความคิด , ความดี เป็นต้น ตัวอย่างเช่น
การวิ่งเพื่อสุขภาพไม่ต้องใช้ความเร็ว
การเรียนช่วยให้มีความรู้
          ข้อสังเกต คำว่า "การ" และ "ความ" ถ้านำหน้าคำชนิดอื่นที่ไม่ใช่คำกริยา หรือวิเศษณ์จะไม่นับว่าเป็นอาการนาม เช่น การรถไฟ , การประปา ,ความแพ่งเป็นต้นคำเหล่านี้จัดเป็นสามานยนาม
หน้าที่ของคำนาม
๑.ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค
เช่น
น้องร้องเพลง
ครูชมนักเรียน
นกบิน
๒.ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น
แมวกินปลา
ตำรวจจับผู้ร้าย
น้องทำการบ้าน
๓.ทำหน้าที่เป็นส่วยขยายคำอื่น เช่น
สัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า
ตุ๊กตาหยกตัวนี้สวยมาก
นายสมควรยามรักษาการเป็นคนเคร่งครัดต่อหน้าที่มาก
4.ทำหน้าที่ขยายคำกริยา เช่น
แม่ไปตลาด
น้องอยู่บ้าน
เธออ่านหนังสือเวลาเช้า
๕.ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มของคำกริยาบางคำ เช่น
เขาเหมือนพ่อ
เธอคล้ายพี่
วนิดาเป็นครู
เธอคือนางสาวไทย
มานะสูงเท่ากับคุณพ่อ
๖.ทำหน้าที่ตามหลังบุพบท เช่น
เขาเป็นคนเห็นแก่ตัว
พ่อนอนบนเตียง
ปู่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล
๗.ทำหน้าที่เป็นคำเรียกขาน เช่น
คุณครูคะหนูยังไม่เข้าใจเลขข้อนี้ค่ะ
คุณหมอลูกดิฉันจะหายป่วยไหม
นายช่างครับผมขอลากิจ 3 วัน



วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556



        คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูด มักจะเป็นคำที่ไม่มีความหมาย แต่เน้นความรู้สึก
และอารมณ์ของผู้พูด เสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำอุทานนี้ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ

๑. เป็นคำ เช่น โอ๊ย ว้าย แหม โถ เป็นต้น
๒. เป็นวลี เช่น พุทโธ่เอ๋ย คุณพระช่วย ตายละว้า เป็นต้น
๓. เป็นประโยค เช่น ไฟไหมเจ้าข้า ป้าถูกรถชน เป็นต้น
          คำอุทานแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
          ๑. อุทานบอกอาการ ใช้เปล่งเสียงเพื่อบอกอาการและความรู้สึกต่างๆของผู้พูด เช่น
ร้องเรียก หรือบอกเพื่อให้รู้สึกตัว เช่น แน่น เฮ้ โว้ย เป็นต้น
โกรธเคือง เช่น ชิชะ ดูดู๋ เป็นต้น
ตกใจ เช่น ตายจริง ว้าย เป็นต้น
สงสาร เช่น อนิจจา โถ เป็นต้น
โล่งใจ เช่น เฮ้อ เฮอ เป็นต้น
ขุ่นเคือง เช่น อุวะ แล้วกัน เป็นต้น
ทักท้วง เช่น ฮ้า ไฮ้ เป็นต้น
เยาะเย้ย เช่น หนอย ชะ เป็นต้น
ประหม่า เช่น เอ้อ อ้า เป็นต้น
ชักชวน เช่น นะ น่า เป็นต้น
         ๒. อุทานเสริมบท คือ คำพูดเสริมขึ้นมาโดยไม่มีความหมาย อาจอยู่หน้าคำ หลังคำหรือแทรกกลางคำ เพื่อเน้นความหมาย ของคำที่จะพูดให้ชัดเจนขึ้น เช่น อาบน้ำอาบท่า ลืมหูลืมตา กินน้ำกินท่า ถ้าเนื้อความมีความหมายในทางเดียวกัน เช่น ไม่ดูไม่แล ร้องรำทำเพลง เราเรียกคำเหล่านี้ว่า คำซ้อน




 

วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คำพ้อง หมายถึง คำที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือซ้ำกัน
คำพ้องเเบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
๑. คำพ้องรูป คือ คำที่เขียนเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกัน และมีความหมายต่างกัน การอ่านคำพ้องรูปให้ถูกต้อง ต้องดูข้อความอื่นๆ ประกอบว่าคำพ้องรุปนั้นหมายถึงอะไร อ่านอย่างไร แล้วจึงอ่านให้ถูกต้อง

ตัวอย่าง คำพ้องรูป
                         -   ปักเป้า   ปัก-กะ-เป้า         หมายถึง ชื่อปลาชนิดหนึ่ง
                                          ปัก-เป้า               หมายถึง ชื่อว่าวชนิดหนึ่ง

                         -   สมาธิ    สะ-มา-ทิ            หมายถึง การสำรวมใจเเน่วเเน่
                                         สะ-หมาด             หมายถึง ทานั่งขัดสมาธิ

                         -  สระ       สะ                        หมายถึง แอ่งน้ำขนาดใหญ๋
                                         สะ-หระ                 หมายถึง อักษรเเทนเสียงสระ

๒. คำพ้องเสียง คือ คำที่เขียนไม่เหมือนกัน แต่ออกเสียงเหมือนกัน และมีความหมายต่างกัน
ตัวอย่าง คำพ้องเสียง
- กรรณ (หู), กัณฐ์ (คอ), กันต์ (ตัด,โกน) = กัน
- ข้า (คนรับใช้), ค่า (คุณประโยชน์), ฆ่า (ทำให้ตาย) = ข้า
- ควาน (เอามือค้นหาของ), ควาญ (ผู้เลี้ยงเเละขับขี่ช้าง) = ควาน
- ศรี (สิริมงคล), สี (สิ่งที่ทำให้เป็นสีต่างๆ) = สี

๓. คำพ้องทั้งรูปและเสียง หรือ คำหลายความหมาย คือ คำที่เขียนเหมือนกันอ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมาย   คำพ้องทั้งรูปและเสียง      
     คำพ้องทั้งรูปและเสียง        คำอ่าน                    ความหมาย

        -   แกะ                                       แกะ                       ๑. ชื่อสัตว์ ๔ เท้าประเภทหนึ่ง
                                                                                       ๒. เอาเล็บมือค่อยๆ แคะให้หลุดออก

         -  ฟัน                                        ฟัน                        ๑. เอาของมีคม เช่น ดาบฟาดลงไป
                                                                                      ๒. กระดูกเป็นซี่ๆ อยู่ในปากสำหรับกัด ฉีก หรือ                                       เคี้ยวอาหาร

         -   ขัน                                      ขัน                        ๑. ภาชนะสำหรับตักหรือใส่น้ำ
                                                                                      ๒ อาการร้องเป็นเสียงอย่างหนึ่งของไก่ หรือนก                                                                                            บางชนิด

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ภาษาไทย ป.๓. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.







วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นางในวรรณคดีไทย



           จินตะหราวาตี จากเรื่อง อิเหนา 

          นางจินตะหรา เป็นพระธิดาท้าวหมันหยากับนางจินดาส่าหรีประไหมสุหรี เกิดในปีเดียวกับอิเหนาแต่อ่อนเดือนกว่า จึงมีฐานะเป็นน้อง แต่ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือและทำให้อิเหนาหลงใหลจนไม่อยากกลับบ้าน แต่ขณะนั้นอิเหนามีคู่หมั้นแล้ว คือ นางบุษบา ขณะที่จะอภิเษกสมรสกับนางบุษบา อิเหนาได้หนีออกไปประพาสป่า และได้ปลอมตัวเป็นโจรชื่อ ปันหยี โดยตั้งใจเดินทางไปเมืองหมันหยา ระหว่างทางได้พบเจ้าเมืองรายทางรวมทั้งได้รับการถวายพระธิดา คือ นางสการะวาตีกับนางมาหยารัศมี ให้เป็นข้ารับใช้ อิเหนาได้สู่ขอนางจินตะหรา แต่ท้าวหมันหยาไม่กล้ายกให้ บอกให้อิเหนาไปคุยกับนางจินตะหราเอง อิเหนาจึงไม่ยอมอภิเษกกับบุษบา ท้าวดาหาโกรธมากจึงรับสั่งว่า ใครมาสู่ขอจะยกให้ แต่เมื่อจรกามาสู่ขอและได้เกิดศึกชิงนางบุษบาขึ้น อิเหนาจึงจำใจยกทัพไปช่วย  แต่เมื่อได้พบนางบุษบา อิเหนาเกิดหลงรักนางขึ้นมา จึงไม่ยอมกลับไปที่เมืองหมันหยาตามที่ตั้งใจไว้




     รจนา จากเรื่อง สังข์ทอง 

          พระสังข์ เป็นโอรสของ ท้าวยศวิมลกับมเหสีชื่อนางจันท์เทวี แต่พระองค์และพระมารดาได้ถูกเนรเทศออกจากวัง เนื่องจากสนมเอกของท้าวยศวิมลที่ชื่อนางจันทาเทวี เกิดความริษยาจึงติดสินบนโหรหลวงให้ทำนายว่าหอยสังข์จะทำให้บ้านเมืองเกิดความหายนะ ท้าวยศวิมลหลงเชื่อจึงจำใจต้องเนรเทศนางจันท์เทวีและหอยสังข์ไปจากเมือง

          นางจันท์เทวีพาหอยสังข์ไปอาศัยอยู่กับตายายชาวไร่ เป็นเวลาถึง 5 ปี ระหว่างนั้นพระโอรสในหอยสังข์ก็แอบออกมาช่วยทำงานบ้านตอนที่ไม่มีใครอยู่ เมื่อนางจันท์เทวีทราบก็ทุบหอยสังข์เสีย เพื่อให้พระสังข์ได้ออกมาอยู่ตน ทว่า ในเวลาต่อมาพระนางจันทาเทวีได้ไปว่าจ้างแม่เฒ่าสุเมธาให้ช่วยทำเสน่ห์เพื่อที่ท้าวยศวิมลจะได้หลงอยู่ในมนต์สะกด และได้ยุยงให้ท้าวยศวิมลไปจับตัวพระสังข์มาประหาร แต่ท้าวภุชงค์ที่เป็นพญานาคได้มาช่วยไว้ และนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ก่อนจะส่งให้นางพันธุรัตเลี้ยงดูต่อจนพระสังข์มีอายุได้ 15 ปี



    ละเวงวัณฬา จากเรื่อง พระอภัยมณี 

          นางละเวงวัณฬา เป็นธิดาของของกษัตริย์เมืองลังกา และเป็นน้องสาวของอุษเรนผู้เป็นคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี เมื่อนางอายุได้ 16 ปี นางต้องสูญเสียบิดาและพี่ชายในสงครามสู้รบระหว่างเมืองลังกาและเมืองผลึกเพื่อแย่งชิงนางสุวรรณมาลีกลับคืนจากพระอภัยมณี แม้จะเสียใจจนคิดที่จะฆ่าตัวตายตามพ่อและพี่ชายไป แต่ด้วยความแค้นและภาวะที่บ้านเมืองกำลังขาดผู้นำ นางจึงขึ้นครองเมืองลังกาแทนบิดา และตั้งใจแน่วแน่ที่จะแก้แค้นแทนบิดาและพี่ชายให้จงได้

          ในตอนต้นนางทำศึกด้วยการใช้เล่ห์กลอุบายตามคำแนะนำของบาทหลวง ทั้งนี้ ด้วยความแค้นที่พ่อและพี่ชายถูกฆ่าตายด้วยฝีมือชาวเมืองผลึก แม้ว่าความพยายามของนางในตอนต้น ๆ จะไม่ได้ผล นางก็ไม่ละความพยายาม จนกระทั่งพระอภัยมณียกทัพไปราวีกรุงลังกาเสียเอง ทั้ง ๆ ที่มีความเกลียด ความโกรธ ความอาฆาตแค้นอยู่เต็มอก แต่พอนางได้พบหน้าและได้ต่อปากต่อคำกับพระอภัยมณีศัตรูคนสำคัญเพียงครั้งเดียว นางก็เกิดรู้สึกเสน่หาในตัวพระอภัยมณี แต่ด้วยความที่เป็นเจ้าเมืองลังกา นางละเวงวัณฬาจึงต้องยอมตัดใจเป็นเด็ดขาดและคิดที่จะยกกองทัพกลับมาต่อสู้ให้ชนะจงได้ 


  

 เมรี จากเรื่อง นางสิบสอง 

          นางเมรี เป็นธิดาของ นางยักษ์สนธมาร เมื่อนางยักษ์สนธมารได้ออกอุบายให้พระรถเสน ซึ่งเป็นลูกของนางสิบสอง กับ พระรถสิทธ์ราช ผู้ครองเมืองกุตารนคร ไปตามหา  “มะม่วงหาว มะนาวโห่” มีอยู่ที่เมืองคชปุรนคร เพื่อรักษาอาการป่วยของนาง โดยนางสนธมารได้เขียนสารให้พระรถเสนนำไปยื่นที่เมืองคชปุรนครด้วย จากนั้นเมื่อพระรถเสนได้ขี่ม้าไปจนถึงอาศรมพระฤาษี ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงหลับลงที่นั่น เมื่อพระฤาษีได้ทราบถึงอุบายของนางยักษ์สนธมารที่เขียนสารให้นางเมรีกินพระรถเสนผู้ถือสารทันทีที่ไปถึงเมืองดังกล่าว พระฤาษีจึงทำการแปลงสารว่า ให้นางเมรีรับพระรถเสนเป็นสวามี ดังนั้นถึงพระรถเสนเมืองคชปุรนคร นางเมรีจึงได้จัดการอภิเษกพระรถเสนกุมารให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และอภิเษกสมรสนางเป็นมเหสี ครอบครองราชสมบัติในคชปุรนคร




 เอื้อย จากเรื่อง ปลาบู่ทอง 

          เศรษฐีทารก (อ่านว่า ทา-ระ-กะ) มีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อ ขนิษฐา มีลูกสาวชื่อ เอื้อย ส่วนคนที่สองชื่อ ขนิษฐี มีลูกสาวชื่อ อ้าย และ อี่ วันหนึ่งเศรษฐีทารกพาขนิษฐาไปจับปลาในคลอง แต่ไม่ว่าจะเหวี่ยงแหไปกี่ครั้งก็ได้เพียงปลาบู่ทองที่ตั้งท้องตัวเดียว จนกระทั่งพลบค่ำเศรษฐีจึงตัดสินใจที่จะนำปลาบู่ทองตัวนั้นกลับบ้าน 

          ทว่า ขนิษฐา สงสารปลาบู่ จึงขอให้สามีปล่อยปลาไป ด้านเศรษฐีทารกเกิดบันดาลโทสะจึงฟาดนางขนิษฐาจนตายก่อนโยนร่างทิ้งลงคลอง จากนั้นนางขนิษฐาจึงกลายเป็นปลาบู่ทองมาคอยฟังเอื้อยปรับทุกข์ เนื่องจากถูกนางขนิษฐีและลูก ๆ กลั่นแกล้งตลอดเวลา โดยเศรษฐีทารกไม่รับรู้และไม่สนใจ 
          



วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สุนทรภู่




พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย[1] เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต

         สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาทกาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง

        ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป