วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556


เสียง



สียงในความหมายกว้าง ๆ หมายถึง เสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงมนุษย์เสียงสัตว์ หรือเสียงอื่นใดก็ตาม แต่ในการศึกษา เสียง หมายถึง เสียงที่มนุษย์เปล่งออกมาเพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์ด้วยกันเสียงในภาษาไทย
เสียงในภาษาไทยแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ด้วยกัน คือ เสียงสระ เสียงพยัญชนะและเสียงวรรณยุกต์
            - เสียงสระ
หรือเสียงแท้ เกิดจากลมที่ออกจากปอดโดยไม่ถูกอวัยวะใดกีดขวาง

         - เสียงพยัญชน
หรือเสียงแปร เกิดจากการลมที่ออกจากปอดแล้วถูกปิดกั้นทางเดิน ของลมให้แคบลง ทำให้ลมผ่านไม่สะดวกจนต้องเสียดแทรกออกมา

             - เสียงวรรณยุกต์
หรือเสียงดนตรี  เกิดจากเสียงเปล่งออกมาพร้อมเสียงแปรจะมีเสียงสูง ต่ำ ตามการสั่นสะเทือนของสายเสียงอวัยวะที่ทำให้เกิดเสียง ได้แก่ ปอด หลอดลม กล่องเสียง ลิ้นไก่ ลิ้น เพดานปุ่มเหงือก ฟัน และริมฝีปาก

เสียงหนักเบา        การเน้นเสียงหนักเบาในภาษาไทย มักเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น
                ๑. ลักษณะส่วนประกอบของพยางค์
                ๒. ตำแหน่งของพยางค์ในคำ
                ๓. หน้าที่และความหมายของคำ
        ๑. ลักษณะส่วนประกอบของพยางค์ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว และพยางค์ที่มีพยัญชนะสะกด จะออกเสียงเน้น (หนัก) เรียกว่า คำครุ
                ครุ หมายถึง คำที่ออกเสียงหนัก มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

                        ๑. ประสมด้วยสระเสียงยาว
                        ๒. ประสมด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา
                        ๓. มีตัวสะกดในมาตราต่าง ๆ
                ครุ มีเครื่องหมายที่ใช้แทน คือ
                ลหุ คือ คำที่ออกเสียงเบา มีลักษณะดังนี้

                        ๑. ประสมด้วยสระเสียงสั้น
                        ๒. ไม่มีตัวสะกด
                ลหุ มีเครื่องหมายที่ใช้แทน คือ
        ตัวอย่างแผนภูมิแสดงเสียงหนักเบา 

                             มะกอกมะกก                                          มะค่ามะเขือ
                          ุ        ั        ุ      ั                                                      ุ      ั      ุ      ั
                        มะกล่ำมะเกลือ                                             มะเฟืองมะไฟ
                      ุ        ั        ุ      ั                                                             ุ        ั         ุ      ั
                        พินิศพนัศ                                                    ระบัดละใบ
                        ุ      ั     ุ      ั                                                                       ุ      ั      ุ      ั
                        เสลาไศล                                                     ละลิ่วละลาน
                        ุ     ั     ุ      ั                                                                       ุ      ั      ุ      ั
        ๒. ตำแหน่งของพยางค์ในคำ ในภาษาไทยคำที่มักออกเสียงหนัก คือ พยางค์สุดท้ายของคำ เช่น พูดบ้าบ้า พูดช้าช้า ถ้าเป็นคำ ๓ พยางค์มักเน้นพยางค์ที่ ๑ กับ หรือถ้าพยางค์ที่ ๒ เป็นสระเสียงยาวหรือพยัญชนะท้ายก็จะออกเสียงหนักด้วย เช่น ปัจจุบันเขาเลิกกิจการไปแล้ว
        ๓. หน้าที่และความหมายของคำ  คำที่ทำหน้าที่เป็นประธาน กริยา กรรม หรือขยายประธาน กริยา กรรม เรามักออกเสียงเน้นหนัก แต่คำที่ทำหน้าที่เชื่อมเราไม่เน้นหนัก
        นอกจากนี้ เราอาจจะเน้นคำบางคำที่ต้องการความสนใจเป็นพิเศษ  เช่น
                น้อยชอบนันท์   ไม่ชอบนุช   น้อยชอบนันท์   ไม่ใช่ฉันชอบ

การสมาสคำ
          เป็นการสร้างคำขึ้นเพื่อเพิ่มคำใหม่ประเภทหนึ่ง  เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการสื่อสาร  โดยนำคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มารวมเป็นคำเดียวกัน  คำที่นำมารวมกันนี้เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤต เรียกว่า “คำสมาส” คำสมาสจะเป็นคำที่มีความหมายใหม่ คำที่มีความหมายหลักมักจะอยู่ข้างหลัง  คำที่ช่วยขยายความหมายจะอยู่ข้างหน้า  ดังนั้นการแปลคำสมาสจึงมักจะแปลจากท้ายมาหาคำหน้า เช่น
          มหา (ยิ่งใหญ่)  +  ชาติ (การเกิด)   เท่ากับ   มหาชาติ  หมายถึง          การเกิดครั้งยิ่งใหญ่
          วีร (กล้าหาญ)   +  บุรุษ (ชาย)       เท่ากับ   วีรบุรุษ    หมายถึง  ชายผู้กล้าหาญ
          อุทก (น้ำ)        +  ภัย (อันตราย)    เท่ากับ   อุทกภัย   หมายถึง ภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วม
          คำสมาส (อ่านว่า สะ – หมาด) คือ การนำคำภาษาบาลีและ/หรือสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมารวมกันเป็นคำเดียว มีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน โดยคำหลักมักอยู่ข้างหลัง คำขยายมักอยู่ข้างหน้า เช่น ราชธานี  คำว่า  ธานี  ซึ่งแปลว่าเมืองจะอยู่ท้ายคำ
การสร้างคำสมาส
          คำสมาสในภาษาไทยมีวิธีการสร้างคำ ดังนี้
                   ๑.  นำคำภาษาบาลีและสันสกฤตมาต่อกัน  อาจเป็นคำภาษาบาลีต่อกับภาษาบาลี หรือคำภาษาสันสกฤตต่อกับภาษาสันสกฤต หรือคำภาษาบาลีต่อกับภาษาสันสกฤตก็ได้  เมื่อแปลคำสมาสจะแปลจากคำหลังไปหาคำหน้า
ตัวอย่าง
ถาวร (มั่นคง, ยั่งยืน) + วัตถุ (สิ่งของ) (บาลี + บาลี) = ถาวรวัตถุ
     อ่านว่า           ถา – วอน – วัด – ถุ
     หมายถึง         สิ่งของที่ก่อสร้างที่มั่นคง ยั่งยืน เช่น โบสถ์ วิหาร
ฌาปน (การเผาศพ) + กิจ (ธุระ, งาน) (บาลี + บาลี) = ฌาปนกิจ
     อ่านว่า           ชา – ปะ – นะ – กิด
     หมายถึง         งานเกี่ยวกับการเผาศพ
ราช (พระเจ้าแผ่นดิน) + ฐาน (ที่อยู่) (บาลี + บาลี) = ราชฐาน
     อ่านว่า           ราด – ชะ – ถาน
     หมายถึง         ที่อยู่ของพระเจ้าแผ่นดิน
เกษตร (ที่ดิน, ไร่,นา) + กรรม (การกระทำ) (สันสกฤต + สันสกฤต) = เกษตรกรรม
     อ่านว่า กะ – เสด – ตระ – กำ
     หมายถึง         การใช้ที่ดินเพาะปลูก
ไตร (สาม) + ลักษณ์ (ลักษณะ) (สันสกฤต + สันสกฤต) = ไตรลักษณ์
     อ่านว่า           ไตร – ลัก
     หมายถึง         ลักษณะ ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน
คณิต (การคำนวณ) + ศาสตร์ (ระบบวิชาความรู้) (สันสกฤต + สันสกฤต) =  
     คณิตศาสตร์
     อ่านว่า           คะ – นิด – ตะ – สาด
     หมายถึง         วิชาว่าด้วยการคำนวณ
หัตถ (มือ) + กรรม (การกระทำ) (บาลี + สันสกฤต) = หัตถกรรม
     อ่านว่า           หัด – ถะ – กำ
     หมายถึง         งานช่างที่ทำด้วยมือ
            ข้อสังเกต
            การสร้างคำวิธีนี้เป็นการนำคำมาเรียงต่อกัน และในการอ่านมักอ่านออกเสียงพยางค์เชื่อมระหว่างคำที่มาต่อกัน  แต่มีบางคำไม่อ่านออกเสียงพยางค์เชื่อมระหว่างคำ หรือบางคำจะอ่านออกเสียงพยางค์เชื่อมระหว่างคำหรือไม่ก็ได้ เช่น
          เกียรติคุณ       อ่านว่า           เกียด – ติ – คุน
                                 หมายถึง        คุณที่เลื่องลือ
          มาตุภูมิ           อ่านว่า           มา – ตุ – พูม
                                 หมายถึง        บ้านเกิดเมืองนอน
          เกียรตินิยม      อ่านว่า          เกียด – นิ – ยม
                                 หมายถึง        ความรู้ดีเด่นเหนือระดับปกติ
          จิตพิสัย           อ่านว่า          จิด – พิ – ไส
                                 หมายถึง        ที่มีอยู่ในจิต
          มูลนิธิ             อ่านว่า           มูน – นิ – ทิ หรือ มูน – ละ – นิ – ทิ
                                 หมายถึง        ทรัพย์สินที่จัดไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
          ศิลปกรรม       อ่านว่า           สิน – ปะ – กำ หรือ สิน – ละ – ปะ – กำ
                                หมายถึง         สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ                             
          ๒.  นำคำภาษาบาลีสันสกฤตมาเชื่อมกันเป็นคำเดียวกันอีกแบบหนึ่ง        บางครั้งเรียกว่า”สมาสมีสนธิ” หมายถึง  การนำคำบาลีสันสกฤต ๒ คำ มาเชื่อมต่อเสียง ให้เสียงกลมกลืนกับพยางค์ต้นของคำหลัง มักเป็น อะ อา อิ อี หรือ อุ อู ไปเชื่อมกับพยางค์ท้ายของคำต้น  คำที่นำมาเชื่อมกันนี้อาจเป็นคำภาษาบาลีต่อกับคำภาษาบาลี หรือคำภาษาสันสกฤตต่อกับคำภาษาสันสกฤต หรือคำภาษาบาลีต่อกับคำภาษาสันสกฤตก็ได้ และเมื่อแปลความหมายจะแปลจากคำหลังไปหาคำหน้า เช่น
            ตัวอย่าง
            ภัตต (อาหาร) + อาคาร (เรือน) (บาลี + บาลี) = ภัตตาคาร
                   หมายถึง  อาคารที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
          เลขา (การเขียน) + อนุการ (การทำตาม) (บาลีสันสกฤต + บาลีสันสกฤต) = เลขานุการ
                   หมายถึง  ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ
          ศิระ (หัว, ยอด) + อาภรณ์ (เครื่องประดับ) (สันสกฤต + บาลี) = ศิราภรณ์
                   หมายถึง  อาภรณ์ประดับศีรษะ เช่น มงกุฎ
          ปรม (อย่างยิ่ง) + อณู (เล็ก, ละเอียด) (บาลี + บาลี) = ปรมาณู
                   หมายถึง  ส่วนของสารที่มีขนาดเล็กจนไม่สามารถแยกย่อย
          สุข (ความสบายกาย, สบายใจ) + อารมณ์ (ความรู้สึกทางใจ) (บาลี + บาลี) = สุขารมณ์
                   หมายถึง  อารมณ์ที่มีสุข
          ราชา (พระเจ้าแผ่นดิน) + อุปโภค (เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์) (สันสกฤต + สันสกฤต)
                   = ราชูปโภค     หมายถึง         ของใช้สำหรับพระราชา
            ข้อสังเกต
          มีคำในภาษาไทยหลายคำที่มีการประกอบคำคล้ายคำสมาส คือ นำศัพท์มาเรียงต่อกันและสามารถอ่านออกเสียง อะ อิ อุ เชื่อมระหว่างคำที่มาต่อกัน แต่ไม่ใช่คำสมาส  เพราะไม่ใช่คำรวมของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต และมีภาษาอื่นปน เช่น
          คุณ + ค่า        (บาลี + ไทย)                 อ่านว่า   คุน – นะ – ค่า, คุน – ค่า
          ชีว + เคมี        (สันสกฤต + อังกฤษ)    อ่านว่า   ชี – วะ – เค – มี
          เทพ + เจ้า       (บาลี + ไทย)                อ่านว่า   เทบ – พะ – เจ้า
          ทุน + ทรัพย์     (ไทย + สันสกฤต)        อ่านว่า   ทุน – นะ – ซับ
          เมรุ + มาศ      (บาลี + เขมร)                อ่านว่า   เม – รุ – มาด
          บรรจุ + ภัณฑ์   (เขมร + บาลีสันสกฤต) อ่านว่า บัน – จุ – พัน
          พล + เรือน      (บาลี + ไทย)                อ่านว่า   พน – ละ – เรอน
ลักษณะของคำสมาส
          ๑.  คำที่สมาสกันต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น อาจจะเป็นบาลีสมาสกับบาลี เช่น ทิพโสต ขัตติยมานะ สันสกฤตสมาสกับสันสกฤต เช่น อักษรศาสตร์ บุรุษโทษ บาลีสมาสกับสันสกฤต เช่น วิทยาเขต วัฒนธรรม
          ๒.  คำสมาสไม่ต้องประวิสรรชนีย์หรือมีเครื่องหมายทัณฑฆาตที่อักษรสุดท้ายของคำหน้า เช่น ศิลปกรรม ธุรการ สัมฤทธิ์บัตร วารดิถี 
          ๓.  คำที่นำมาสมาสกันแล้ว ความหมายหลักอยู่ที่คำหลัง ส่วนความรองจะอยู่ข้างหน้า เช่น ยุทธ (รบ) + ภูมิ (แผ่นดิน / สนาม) = ยุทธภูมิ (สนามรบ)
          ๔.  คำที่รวมกันแล้วไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำแต่อย่างใด เช่น วัฒน + ธรรม = วัฒนธรรม / โลก + บาล = โลกบาล
          ๕.  คำสมาสเมื่อออกเสียงต้องต่อเนื่องกัน เช่น ภูมิศาสตร์ อ่านว่า พู – มิ – สาด / เกตุมาลา อ่านว่า เก – ตุ – มา – ลา
หลักการสังเกตคำสมาส
            ๑.  คำที่สมาสกันต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น เช่น ทิพโสต ขัตติยมานะ กิจการ(บาลีสมาสกับบาลี) อักษรศาสตร์ บุรุษโทษ (สันสกฤตสมาสกับสันสกฤต)  วิทยาเขต วัฒนธรรม (บาลีสมาสกับสันสกฤต)
            ๒.  คำสมาสมีลักษณะคล้ายการนำคำสองคำมาวางเรียงต่อกัน  เวลาอ่านจะมีเสียงสระต่อเนื่องกัน
            ๓.  ไม่มีการประวิสรรชนีย์ (  )และ ไม่ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต เช่น  มนุษยสัมพันธ์ พลศึกษา
            ๔.  การเรียงคำ คำหลักจะอยู่ข้างหลัง ดังนั้นการแปลจึงแปลความหมายจากหลังมาหน้า
            ๕.  คำ “พระ” ประกอบหน้าคำบาลี สันสกฤต จัดเป็นคำสมาส
            ๖.  คำที่ลงท้ายด้วยคำว่า ศาสตร์  กรรม  ภาพ  ภัย  ศึกษา  มักเป็นคำสมาส
หมายเหตุ : ยกเว้นคำสมาสบางคำที่วางคำตั้งหรือคำหลักเป็นคำหน้าและวางคำขยายเป็นคำหลังจึงสามารถแปลความหมายจากหน้าไปหลังได้ เช่น บุตรธิดา หมายถึง ลูกและภรรยา  สมณพราหมณ์ หมายถึง พระสงฆ์และพราหมณ์   ทาสกรรมกร หมายถึง ทาสและกรรมกรฯลฯ
แนวคิด 
          คำไหนมี “ ะ ” หรือ ตัวการันต์ ระหว่างคำ คำนั้นไม่ใช่คำสมาส เช่น กิจจะลักษณะ วิพากษ์วิจารณ์ พิมพ์ดีด
ตัวอย่างคำสมาส
ธุรกิจ
กิจกรรม
กรรมกร
ขัณฑสีมา
คหกรรม
เอกภพ
กาฬทวีป
สุนทรพจน์
จีรกาล
บุปผชาติ
ประถมศึกษา
ราชทัณฑ์
มหาราช
ฉันทลักษณ์
พุทธธรรม
วรรณคดี
อิทธิพล
มาฆบูชา
มัจจุราช
วิทยฐานะ
วรรณกรรม
สัมมาอาชีพ
หัตถศึกษา
ยุทธวิธี
วาตภัย
อุตสาหกรรม
สังฆราช
รัตติกาล
วสันตฤดู
สุขภาพ
อธิการบดี
ดาราศาสตร์
พุพภิกขภัย
สุคนธรส
วิสาขบูชา
บุตรทาน
สมณพราหมณ์
สังฆเภท
อินทรธนู
ฤทธิเดช
แพทย์ศาสตร์
ปัญญาชน
วัตถุธรรม
มหานิกาย
มนุษยสัมพันธ์
วิทยาธร
วัฏสงสาร
สารัตถศึกษา
พัสดุภัณฑ์
เวชกรรม
เวทมนตร์
มรรคนายก
อัคคีภัย
อุดมคติ
เอกชน
ทวิบาท
ไตรทวาร
ศิลปกรรม
ภูมิศาสตร์
รัฐศาสตร์
กาฬพักตร์
ราชโอรส
ราชอุบาย
บุตรทารก
ทาสกรรมกร
พระหัตถ์
พระชงฆ์
พระพุทธ
พระปฤษฏางค์
วิทยาศาสตร์
กายภาพ
กายกรรม
อุทกภัย
วรพงศ์
เกษตรกรรม
ครุศาสตร์
ชีววิทยา
มหกรรม
อัฏฐางคิกมรรค
มหาภัย
อุบัติเหตุ
กรรมกร
สันติภาพ
มหานคร
จตุปัจจัย

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556


คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนนามในประโยคสื่อสาร เราใช้คำสรรพนามเพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำๆ
ชนิดของคำสรรพนาม แบ่งเป็น ๖ ประเภท ดังนี้
         ๑. สรรพนามที่ใช้ในการพูด (บุรุษสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้ในการพูดจา สื่อสารกัน ระหว่างผู้ส่งสาร (ผู้พูด) ผู้รับสาร (ผู้ฟัง) และผู้ที่เรากล่าวถึง มี ๓ ชนิด ดังนี้
๑) สรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้แทนผู้ส่งสาร (ผู้พูด) เช่น ฉัน ดิฉัน ผม ข้าพเจ้า เรา หนู เป็นต้น
๒) สรรพนามบุรุษที่ ๒ ใช้แทนผู้รับสาร (ผู้ที่พูดด้วย) เช่น ท่าน คุณ เธอ แก ใต้เท้า เป็นต้น
๓) สรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง เช่น ท่าน เขา มัน เธอ แก เป็นต้น
          ๒. สรรพนามที่ใช้เชื่อมประโยค (ประพันธสรรพนาม)สรรพนามนี้ใช้แทนนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้าและต้องการ
จะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้เชื่อมประโยคสองประโยคเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
บ้านที่ทาสีขาวเป็นบ้านของเธอ(ที่แทนบ้าน เชื่อมประโยคที่ ๑ บ้านทาสีขาว กับ ประโยคที่ ๒ บ้านของเธอ)
          ๓. สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ (วิภาคสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนนามที่อยู่ข้างหน้า เมื่อต้องการเอ่ยซ้ำ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยนามนั้นซ้ำอีก และเพื่อแสดงความหมายแยกออกเป็นส่วนๆ ได้แก่คำว่า บ้าง ต่าง กัน ตัวอย่างเช่น
นักศึกษาต่างแสดงความคิดเห็น
สตรีกลุ่มนั้นทักทายกัน
นักกีฬาตัวน้อยบ้างก็วิ่งบ้างก็กระโดดด้วยความสนุกสนาน
          ๔. สรรพนามชี้เฉพาะ (นิยมสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงที่อยู่ เพื่อระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น โน้น ตัวอย่างเช่น
นี่เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนี้
นั่นรถจักรายานยนต์ของเธอ
          ๕. สรรพนามบอกความไม่เจาะจง (อนิยมสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามที่กล่าวถึงโดยไม่ต้องการคำตอบ
ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ที่ไหน ผู้ใด สิ่งใด ใครๆ อะไรๆๆ ใดๆ ตัวอย่างเช่น
ใครๆก็พูดเช่นนั้น
ใครก็ได้ช่วยชงกาแฟให้หน่อย
ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง
ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้
          ๖. สรรพนามที่เป็นคำถาม (ปฤจฉาสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามเป็นการถามที่ต้องการคำตอบ ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ไหน ผู้ใด ตัวอย่างเช่น
ใครหยิบหนังสือบนโต๊ะไป
อะไรวางอยู่บนเก้าอี้
ไหนปากกาของฉัน
ผู้ใดเป็นคนรับโทรศัพท์
         

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556



คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการ สภาพ หรือการกระทำของคำนาม และคำสรรพนามในประโยค คำกริยาบางคำอาจมี
ความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง บางคำต้องมีคำอื่นมาประกอบ และบางคำต้องไปประกอบคำอื่นเพื่อขยายความ
ชนิดของคำกริยา คำกริยาแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้
๑. กริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับ (อกรรมกริยา) เป็นกริยาที่มีความหมายสมบูรณ์ ชัดเจนในตัวเอง เช่น

ครูยืน 
น้องนั่งบนเก้าอี้ 
ฝนตกหนัก 
เด็กๆหัวเราะ 
                                                      คุณลุงกำลังนอน
             ๒. กริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับ (สกรรมกริยา) เป็นกริยาที่ต้องมีกรรมมารับจึงจะได้ใจความสมบูรณ์ เช่น
แม่ค้าขายผลไม้
น้องตัดกระดาษ
ฉันเห็นงูเห่า
พ่อซื้อของเล่นมาให้น้อง
         ๓. กริยาที่ต้องมีคำมารับ คำที่มารับไม่ใช่กรรมแต่เป็นส่วนเติมเต็ม (วิกตรรถกริยา) คือ คำกริยานั้นต้องมี
คำนามหรือสรรพนามมาช่วยขยายความหมายให้สมบูรณ์ เช่นคำว่า เป็น เหมือน คล้าย เท่าคือ เสมือน ดุจ เช่น
ชายของฉันเป็นตำรวจ
เธอคือนักแสดงที่ยิ่งใหญ่
ลูกดุจแก้วตาของพ่อแม่
แมวคล้ายเสือ
          ๔. กริยาช่วย (กริยานุเคราะห์) เป็นคำที่เติมหน้าคำกริยาหลักในประโยคเพื่อช่วยขยายความหมายของคำกริยาสำคัญ
ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นคำว่า กำลัง จะ ได้ แล้ว ต้อง อย่า จง โปรด ช่วย ควร คงจะ อาจจะ เป็นต้น เช่น
เขาไปแล้ว
โปรดฟังทางนี้
เธออาจจะถูกตำหนิ
ลูกควรเตรียมตัวให้พร้อม
เขาคงจะมา
จงแก้ไขงานให้เรียบร้อย
         ข้อสังเกต กริยาคำว่า ถูก ตามปกติจะใช้กับกริยาที่มีความหมายไปในทางไม่ดี เช่น ถูกตี ถูกดุ ถูกตำหนิ ถ้าความหมายในทางดีอาจใช้คำว่า ได้รับ เช่น ได้รับคำชมเชย ได้รับเชิญ เป็นต้น
          ๕. กริยาที่ทำหน้าที่คล้ายนาม (กริยาสภาวมาลา) เป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่คล้ายกับคำนาม อาจเป็นประธาน เป็นกรรม หรือบทขยายของประโยคก็ได้ เช่น
เขาชอบออกกำลังกาย (ออกกำลังกายเป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่คล้ายนาม เป็นกรรมของประโยค)
กินมากทำให้อ้วน (กินมากเป็นกริยาที่ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค)
นอนเป็นการพักผ่อนที่ดี (นอนเป็นกริยาทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค)
หน้าที่ของคำกริยา มีดังนี้
๑. ทำหน้าที่เป็นกริยาสำคัญของประโยค เช่น คนกินข้าว นกบินมาเป็นฝูง เป็นต้น
๒. ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น กินมากทำให้อ้วน เป็นต้น
๓. ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น ฉันชอบเต้นแอร์โรบิกตอนเช้า เป็นต้น
๔. ทำหน้าที่ช่วยขยายกริยาสำคัญให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น พี่คงจะกลับบ้านเย็นนี้ เป็นต้น
๕. ทำหน้าที่ช่วยขยายคำนามให้เข้าใจเด่นชัดขึ้น เช่น ฉันชอบกินก๋วยเตี๋ยวผัด น้องชายชอบบะหมี่แห้ง เป็นต้น